Tuesday 27 September 2011

ខ្មែរប្រើថៃខ្ចី-เขมรใช้ไทยยืม

ខ្មែរប្រើថៃខ្ចី-เขมรใช้ไทยยืม

เมื่อช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา มีโอกาสอ่านหนังสือ "เขมรใช้ ไทยยืม" ผลงานของ อ.ศานติ ภักดีคำ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทย และได้รับความรู้ใหม่ๆ มากมาย จึงขออนุญาตคัดลอกเนื้อหาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

"
จังหวัด" เป็นคำภาษาเขมรที่ไทยยืมมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ ในภาษาไทยที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จังหวัด มีความหมายว่า บริเวณ หรือ เขต

แต่ในภาษาไทยปัจจุบัน จังหวัด หมายถึง หน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคโดยรวมหลายอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารสูงสุด

คำว่า จังหวัด ที่ใช้ในภาษาไทยดังกล่าวมานี้เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรโบราณว่า จงฺวต หรือ จงฺวาต เป็นคำนาม หมายถึง การล้อมรอบ, วง, ขอบเขต, เขตแดน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คำว่า จังหวัด ในภาษาไทยที่ใช้ในเอกสารโบราณมีความใกล้เคียงกับภาษาเขมรโบราณมาก แต่ต่อมาเมื่อมีการนำมาใช้ในสมัยหลังได้เปลี่ยนความหมายไป หมายถึง หน่วยการปกครอง "จังหวัด" เท่านั้น

"
จำเลย" เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากในภาษาไทยมีการใช้ในความหมายที่ต่างกัน ความหมายแรกน่าจะเป็นความหมายโบราณ หมายถึง เฉลย, การตอบ ซึ่งเป็นคำยืมภาษาเขมรจากคำว่า จมฺเลย ออกเสียงว่า จ็อมเลย แปลว่า คำตอบ

สำหรับความหมายที่สองของคำว่า จำเลย เป็นคำที่ใช้ในภาษากฎหมาย หมายถึง ผู้ถูกฟ้องความในศาล เป็นความหมายที่กลายมาจากคำยืมภาษาเขมร คือคำว่า จมฺเลย ที่แปลว่า คำตอบ เช่นเดียวกัน แต่นำมาใช้ในความหมายว่า ผู้ตอบ (คำถาม) นั่นเอง

"
ชนะ" เป็นคำยืมภาษาเขมรอีกคำหนึ่งที่เราใช้กันจนคิดว่าเป็นคำภาษาไทยแท้ ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยโบราณ คำว่า แพ้ ในภาษาไทยหมายถึง ชนะ ส่วนคำว่า พ่าย จึงหมายถึง แพ้

ต่อมาเมื่อภาษาไทยรับเอาคำว่า ชนะ เข้ามาใช้ ความหมายของคำว่า แพ้ ที่เคยหมายถึง ชนะ จึงกลายเป็นความหมายว่า แพ้

คำว่า ชนะ เป็นคำที่ภาษาไทยน่าจะรับมาจากภาษาเขมรโบราณ เนื่องจากในภาษาเขมรโบราณมีรูปเขียนเหมือนภาษาไทยปัจจุบันคือ ชฺนะ หากแต่ภาษาเขมรปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบการสะกดเป็น ฌฺนะ หมายถึง ชนะ

ดังนั้น จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า คำนี้เป็นคำที่ภาษาไทยยืมมาใช้จากรูปเขียนของภาษาเขมรโบราณ

"
เชลย" เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ถูกข้าศึกจับตัวได้ คำนี้เป็นคำยืมภาษาเขมรจากคำว่า เฌฺลีย ออกเสียงว่า เฌฺลย ในภาษาเขมรมี 2 ความหมาย

ความหมายแรกเป็นความหมายเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทย เป็นคำนาม แปลว่า เชลย, ผู้ที่ถูกจับได้ในการรบ, สัตว์ที่ต่อมา ส่วนความหมายที่สองหมายถึง ป่าเถื่อน, ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

"
วังเวง" ที่ใช้ในภาษาไทยหมายถึง ลักษณะทางอารมณ์อย่างหนึ่งในขณะที่อยู่ท่ามกลางความสงบหรือเปล่าเปลี่ยวใจ

คำนี้เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่า วงฺเวง ออกเสียงว่า ว็วงเวง เป็นคำกริยาแปลว่า หลง, หลงทาง
ที่มา นหังสือ เขมรใช้ไทยยืม ของ อ.ศานติ ภักดีคำ

No comments:

Post a Comment