| |||||||
ตบะแตก ตบะ หมายถึง พิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว ผู้บำเพ็ญตบะคือฤๅษี. ตบะแตก หมายถึง บำเพ็ญตบะต่อไปไม่ได้เพราะทนสิ่งยั่วยวนไม่ไหว ปัจจุบันมักใช้หมายถึง สิ้นความอดทน หมดความอดกลั้น เช่น เขาตั้งใจว่าวันนี้จะทำรายงานให้เสร็จ แต่พอเพื่อนชวนหนักเข้าก็ตบะแตก เลิกทำรายงาน ออกไปดูหนังกับเพื่อน. เรื่องเล่าเกี่ยวกับฤๅษีที่ตบะแตก ปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่นในวรรณคดีสันสกฤตเรื่องมหาภารตะ ฤๅษีวิศวามิตรบำเพ็ญตบะนานเป็นพัน ๆ ปี จนมีบารมีมากแข่งกับพระอินทร์ได้. พระอินทร์จึงส่งนางอัปสรชื่อเมนกา (อ่านว่า เม-นะ -กา) ไปยั่วยวนจนบำเพ็ญตบะไม่ได้และได้นางเป็นภรรยา มีธิดาชื่อศกุนตลา. ต่อมาฤๅษีวิศวามิตรบำเพ็ญตบะอีก ๑,๐๐๐ ปี และพยายามข่มกิเลสไม่ยอมให้ตบะแตกอีก เมื่อพระอินทร์ส่งนางอัปสรชื่อนางรัมภามายั่วยวน ฤๅษีวิศวามิตรไม่ยอมตกเป็นเหยื่อ จึงสาปนางให้กลายเป็นหินไปหมื่นปี ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. | |||
| |||
เอาการ-เอาเรื่อง-เอาอยู่ เอาการ แปลว่า มาก หนัก เช่น ระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงตัวอำเภอไกลเอาการ อาจจะใช้ว่า เอาเรื่อง ก็ได้ มักใช้ในลักษณะปรารภแสดงความหนักใจเป็นต้น เช่น การขอคะแนนเสียงจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรายากเอาเรื่อง. นอกจากจะใช้ว่า เอาการ หรือ เอาเรื่อง แล้ว อาจใช้ว่า เอาอยู่ แปลว่า หนักทีเดียว เช่น เด็กคนนี้ฤทธิ์มากเอาอยู่ ต้องควบคุมให้ดี. คำว่า เอาอยู่ อีกความหมายหนึ่ง แปลว่า ปกครองได้ ควบคุมได้ ดูแลได้ รักษาได้ เช่น การจลาจลในประเทศนั้น รัฐบาลเอาอยู่. ชายคนรักของเธอเจ้าชู้มากแต่เธอก็เอาอยู่.คนไข้อาการหนัก แต่หมอก็เอาอยู่. และในทางปฏิเสธจะใช้ว่า เอาไม่อยู่ เช่น น้ำเหนือไหลแรงมาก จนชาวบ้านเอาไม่อยู่. ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. | |||
| |||
เลือดอุ่น-เลือดเย็น คำว่า เลือดอุ่น เลือดเย็น เป็นคำแบ่งประเภทของสัตว์ตามอุณหภูมิของร่างกาย เป็นสัตว์เลือดอุ่นและสัตว์เลือดเย็น สัตว์เลือดอุ่น คือ สัตว์ที่มีอุณหภูมิของร่างกายอุ่นและคงที่ เพราะร่างกายมีกลไกควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าอุณหภูมิภายนอกจะหนาวเย็นหรือร้อนเพียงใดก็ตาม สัตว์เลือดอุ่น มี ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่สัตว์ปีกกลุ่มหนึ่งและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกกลุ่มหนึ่ง. สัตว์ปีก คือ นก เป็ด ไก่ เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ คน ช้าง แมวน้ำ ปลาวาฬ ปลาโลมา พะยูน สุนัข เป็นต้น สัตว์เลือดเย็น คือ สัตว์ที่มีอุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ จึงสามารถอยู่ได้ทั้งในที่ที่มีอากาศร้อนและอากาศเย็น เช่น ปลา กบ อึ่งอ่าง คางคก งู ตุ๊กแก สัตว์เลือดเย็นสามารถปรับอุณหภูมิของตนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้ ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. | |||
| |||
เลือดร้อน-เลือดเย็น คำว่า เลือดร้อน ใช้เป็นคำแสดงอารมณ์ อารมณ์ร้อน โกรธง่าย โมโหง่าย เช่น เขาเป็นคนเลือดร้อนถูกเพื่อนล้อนิดเดียว ก็ชกเพื่อนจนปากแตก. หนุ่มเลือดร้อนคนนั้นเอาเหล้าสาดหน้าคนที่เหยียบเท้า ทำให้งานเลี้ยงเกิดความชุลมุนวุ่นวาย. คำว่า เลือดเย็น ใช้เป็นคำแสดงลักษณะจิตใจที่โหดเหี้ยม ร้ายลึก สามารถทำลายชีวิต หรือชื่อเสียงของผู้อื่นได้โดยไม่รู้สึกหวั่นไหว เช่น เขาเป็นคนเลือดเย็น หลอกผู้หญิงไปขายตัวได้อย่างไม่รู้สึกสงสาร เขาฆ่าผู้หญิงที่นอกใจเขาได้อย่างเลือดเย็น. ผู้หญิงคนนี้เลือดเย็นเอายาพิษผสมในอาหารให้สามีกินทุกวันจนตาย. ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. | |||
| |||
อุกกาบาต-อุกลาบาต-อุลกมณี อุกกาบาต (อ่านว่า อุก-กา-บาด) เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่า อุกฺกา (อ่านว่า อุก-กา) แปลว่า คบเพลิง และ ปาต (อ่านว่า ปา-ตะ) แปลว่า ที่ตกลงมา. คำว่า อุกกาบาต ใช้เรียกเทหวัตถุแข็งจากอวกาศชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยหินเป็นส่วนใหญ่ อีกชนิดหนึ่งประกอบด้วยเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเคลื่อนที่ผ่านบรรยากาศสู่ผิวโลก จะเสียดสีกับอากาศจนเกิดความร้อนเป็นไฟลุกไหม้สว่างจ้าพุ่งเป็นทาง เรียกว่าผีพุ่งไต้หรือดาวตก ถ้ามีขนาดเล็กจะไหม้หมดก่อนถึงผิวโลก ถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะตกถึงผิวโลก เรียกว่าอุกกาบาต คำว่า อุกกาบาต บางทีก็ใช้ว่า อุกลาบาต (อ่านว่า อุ-กะ-ลา-บาต) ซึ่งเลือนมาจากคำสันสกฤตว่า อุลฺกาปาต (อ่านว่า อุน-ละ -กา-ปา-ตะ) มีความหมายเดียวกับคำว่า อุกกาบาต ในภาษาบาลี นอกจากนั้นในภาษาไทยยังมีคำว่า อุลกมณี (อ่านว่า อุน-ละ -กะ-มะ -นี) ซึ่งใช้เรียกเศษอุกกาบาตที่ตกสู่ผิวโลก และนำมาเจียระไนทำเป็นเครื่องประดับ เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่ง ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. | |||
| |||
ตีนกา-ตีนครุ คำว่า ตีนกา ใช้เรียกสิ่งที่มีลักษณะเหมือนตีนของอีกา คือเป็นเครื่องหมายกากบาทอย่างเครื่องหมายบวก โบราณใช้เป็นเครื่องหมายบอกมาตราเงินและมาตราชั่ง เมื่อบอกมาตราเงิน จะแสดงมาตราเงินเป็นชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง และไพ. ตัวเลขที่เป็นหลักชั่งอยู่บนปลายเส้นดิ่ง เฉียงลงมาที่มุมซ้ายบนเป็นหลักตำลึง ไปทางขวาเป็นหลักบาท ลงมาที่มุมขวาล่างเป็นหลักสลึง ต่อมาที่มุมซ้ายล่างเป็นหลักเฟื้อง และที่ปลายล่างของเส้นดิ่งเป็นหลักไพ เมื่อเป็นมาตราชั่ง ก็แสดงน้ำหนักเป็นชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ เช่นเดียวกับมาตราเงิน. ปัจจุบันแพทย์แผนไทยยังใช้เครื่องหมายตีนกาเป็นมาตราชั่งเครื่องยาไทยอยู่. คำว่า ตีนกา ตามความหมายนี้ เรียกอีกอย่างว่า ตีนครุ (อ่านว่า ตีน-คฺรุ) ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
|